ยางปาดสี Squeegees Rubber |
โดย รุ่งทิพย์ อมรวชิรวงศ์ อาจารย์พิเศษและวิทยากร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสต์ ความต้องการที่จะพิมพ์สกรีนผ้าให้งานออกมาดี ไม่ได้ขึ้นอยู่กับบล็อกสกรีนที่ดีเพียงอย่างเดียวเท่านั้น จะต้องใช้แปรงปาดสีที่มีคุณภาพและมีคุณสมบัติที่เหมาะสมกับงานนั้นๆ ด้วย เพราะแปรงปาดสีทำหน้าที่เกลี่ยสีให้ลอดผ่านรูผ้าสกรีนไปได้ สีจะลอดผ่านผ้ามากน้อยเท่าใด ดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับแปรงปาดสีด้วย ยังมีจังหวะและเทคนิคหลายอย่างที่ทำให้งานพิมพ์สกรีนบรรลุเป้าที่ต้องการในหลายๆ รูปแบบได้ เช่น การสั่งให้พิมพ์เนื้อสีบางหรือหนา พิมพ์งานที่มีต้องการความละเอียดมากหรือน้อยต่างกัน พิมพ์งานที่ต้องการขอบลายพิมพ์คมชัดขนาดไหน พิมพ์งานที่ต้องการให้หน้าสีเรียนเนียนอย่างไร เทคนิคเหล่านี้สั่งได้จากเลือกใช้ยางปาดสีที่เหมาะสมกับงานทั้งนั้น

วัสดุที่ใช้ทำยางปาดสี (Material of Squeegees)
ยางปาดสีที่พบเห็นกันทั่วไป ทำจากวัสดุที่แตกต่างกันมี 3 ประเภท คือ 1. ยางธรรมชาติ (Natural Rubber) 2. ยางสังเคราะห์ (Neoprene Rubber) 3. โพลิยูรีเทน (Polyurethane Rubber)
ยางปาดสีที่ทำจากยางธรรมชาติเป็นยางปาดสีที่ใช้กันในช่วงแรกของการพิมพ์ผ้า ยางธรรมชาติทำมาจากน้ำยางธรรมชาติ ที่มีโครงสร้างไม่แข็งมากนัก เนื้อยางจะมีสีขุ่นทึบ เนื้อสียางเดิมจะมีสีขาว บางแห่งอาจมีการผสมสีในเนื้อยางก่อนอบแห้ง ยางปาดสีที่ทำมาจากยางธรรมชาติจะมีขีดจำกัดเรื่องการใช้งานมาก เพราะจะไม่สามารถพิมพ์งานที่มีความคมและความละเอียดสูงได้ดี อีกทั้งเนื้อยางก็สึกหรอง่ายด้วย จึง การลับคมกับยางชนิดนี้ก็ทำได้ยากเพราะเนื้อยางนิ่ม สำหรับยางปาดสีที่ทำมาจากยางสังเคราะห์ (Neoprene) เป็นยางสังเคราะห์ที่มีเนื้อแข็งแต่เปราะกว่ายางธรรมชาติ นิยมใช้ทำยางปูพื้น ปะเกน ยางพื้นรองเท้า เป็นส่วนใหญ่ มีการนำยางชนิดนี้มาดัดแปลงใช้ทำยางปาดสีกันด้วย แต่ก็ยังไม่ดีพอ อุปสรรคจากการนำยางสังเคราะห์ชนิดนี้มาใช้ยังมีอยู่มาก ต่อมาได้มีการนำเอายางโพลียูรีเทนมาใช้ทำยางปาดสี และได้รับการตอบรับที่ดีมาก เพราะยางชนิดนี้เหนียวและมีความแข็งให้เลือกหลายระดับ เนื้อยางมีความยืดหยุ่นสูง สปริงตัวดี ทนกรดและด่างได้ดีมาก จึงมีการนำยางชนิดนี้มาทำยางปาดสีได้ทุกประเภท อีกทั้งมีความทนทานต่อการใช้งานสูง ใบปาดสีคมนาน
ความแข็งของยางปาดสี (Durometer)
ความแข็งหรืออ่อนของยางปาดสี มีผลกับการเกลี่ยสีให้ผ่านผ้าสกรีนได้ดีหรือไม่ สีจะไหลผ่านมากหรือน้อยเท่าใด ขึ้นอยู่กับสิ่งนี้ด้วย ดังนั้นจึงมีการกำหนดค่าความแข็งของยางปาดสี เพื่อจัดยางปาดสีให้เหมาะสมกับงานที่ต้องการ มีการกำหนดหน่วยของความแข็งของยางปาดสี เป็น ShoreA ค่าความแข็งของยางปาดสีอยู่ระหว่าง 50 Shore A ถึง 95 Shore A สำหรับยางที่ใช้ในงานพิมพ์สกรีน เครื่องมือที่ใช้วัดค่าความแข็ง เรียกว่า Durometer Gauge ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับเครื่องวัดความตึงของผ้าสกรีน (Tension Meter) ลักษณะการทำงานของเครื่องจะใช้หัวเข็มเล็ก ๆ แทงเข้าไปในเนื้อวัสดุและอ่านค่าความแข็งของยางปาดสีจากสเกลบนหน้าปัด ยางปาดสียิ่งแข็งจะยิ่งมีค่า Shore Hardness สูงขึ้น ดังแสดงในตารางดังนี้
ค่าความแข็ง |
ระดับความแข็ง |
60 A |
นิ่ม (Soft) |
70 A |
ปานแกลาง (Medium) |
80 A |
แข็ง (Hard) |
90 A |
แข็งมาก (Extra Hard) | สีของยางปาดสี
เพื่อให้สามารถแบ่งแยกออกว่ายางปาดสีแต่เส้นมีความแข็งที่เท่าไร จึงมีการผสมสีลงไปในยางปาดสีด้วย การผสมสีในเรื่องความแข็งทางด้านสีพิมพ์ผ้ามีการกำหนดสีเพื่อบ่งบอกความแข็งดังนี้
ค่าความแข็ง |
ระดับความแข็ง |
60 A |
นิ่ม (Soft) |
70 A |
ปานแกลาง (Medium) |
80 A |
แข็ง (Hard) |
90 A |
แข็งมาก (Extra Hard) |
การเลือกความแข็งของยางปาดสีในงานพิมพ์ผ้า
1. ความละเอียดของผ้าสกรีนและผ้าที่ต้องการพิมพ์ สิ่งที่กำหนดขนาดความแข็งของยางปาดสีที่ใช้ในงานพิมพ์ผ้า คือ ความละเอียดของผ้าสกรีนและพื้นผิวผ้าที่ต้องการพิมพ์ ถ้าบล็อกสกรีนที่เตรียมมาจากผ้าสกรีนที่มีความละเอียดไม่มากและพื้นผิวผ้าที่ต้องการพิมพ์ไม่เรียบ ควรเลือกยางปาดที่มีความแข็งต่ำ ซึ่งควรมีระดับความแข็งอยู่ระหว่าง 60A และ 70A จะเห็นว่าความแข็งของยางปาดสีระดับนี้เหมาะสำหรับสีพิมพ์ผ้าสูตรน้ำ แต่ถ้าผ้าสกรีนมีความละเอียดสูงและพื้นผิวของผ้าที่ต้องการพิมพ์เรียบ ควรเลือกยางปาดที่มีความแข็งมาก ซึ่งควรมีระดับความแข็งอยู่ระหว่าง 80A และ 90A จะเห็นว่าความแข็งระดับนี้เหมาะสำหรับสีพิมพ์ผ้าสูตรน้ำมันสูตรพลาสติซอล และสูตรซิลิโคน 2. สีหรือหมึกพิมพ์ เทคนิคการเลือกยางปาดสีที่เหมาะสมนั้นควรจะคำนึงถึงเรื่องการไหลตัว (Shear) ของสีด้วย สีจะไหลตัวได้ดีก็ต้องใช้ยางปาดสีที่ไม่นิ่มหรือแข็งจนเกินไป และต้องคำนึงถึงความข้นเหลวและความหนืดของสีด้วย ถ้าสีมีความข้นและความหนืดต่ำยางปาดสีที่มีความแข็งระดับ 50A ถึง 60A ก็เพียงพอที่จะปาดสีให้ผ่านรูผ้าสกรีนได้ และถ้าสีมีความข้นและความหนืดสูง ยางปาดสีก็ต้องมีความแข็งที่มากขึ้น ระดับความแข็งที่จะใช้งานนี้ คือ 70A ถึง 80A 3. เครื่องพิมพ์ผ้า การพิมพ์ผ้าด้วยเครื่องพิมพ์อัตโนมัติที่พิมพ์ด้วยความเร็วสูงจะเกิดแรงเสียดทานสูงในระหว่างการพิมพ์ จึงควรใช้ยางปาดที่มีความแข็งสูง ซึ่งสามารถทนต่อแรงเสียดทานได้ดี ยางปาดสีที่นิ่มมักจะเหมาะกับการพิมพ์ผ้าด้วยเครื่องพิมพ์ผ้ากึ่งอัตโนมัติหรือเครื่องพิมพ์ผ้าด้วยมือเพราะมีความเร็วต่ำและใช้แรงกดไม่สูง ความแข็งของยางปาดสีจะมีอิทธิพลต่อปริมาณของสีพิมพ์ที่พิมพ์ลงบนผ้า ยางปาดที่นิ่มจะปาดสีพิมพ์ลงบนผ้าได้หนากว่ายางปาดที่แข็ง ดังนั้นลายพิมพ์ที่ต้องการให้สีลงมากจึงควรเลือกใช้ยางปาดที่นิ่มและลายพิมพ์ที่ต้องการสีลงน้อยควรเลือกใช้ยางปาดสีที่แข็งขึ้น
ใบมีดยางปาดสี (Squeegee Blade)
 ใบมีดของยางปาดสี คือ ลักษณะของปลายยางปาดสีที่ต้องสัมผัสกับหมึกพิมพ์ ซึ่งจะมีรูปทรงแตกต่างกันไปออกไป ใบมีดของยางปาดสีแต่ละอย่างจะมีอิทธิพลต่อการปาดสีไม่เหมือนกัน ใบมีดยางปาดสีที่ใช้กันอยู่ทั่วไป จะมี 3 แบบ คือ
1.รูปหน้าตัดขวาง (Cross-section Blade) ใบมีดของยางปาดสีจะมีลักษณะเป็นรูปสี่เหลี่ยม (Square) ใบมีดลักษณะนี้จะรีดสีให้ลอดผ่านผ้าสกรีนได้ดี และใบมีดชนิดนี้ก็จะช้อนสีกลับมายังที่พักสีได้ดี ทำให้พิมพ์งานได้คมและบาง มีการนำใบมีดไปพิมพ์สกรีนทั้งในแนวตรงของใบมีดและใช้มุมของใบมีดพิมพ์ หากพิมพ์ในแนวตรงปลายใบมีดตั้งฉากกับผ้าสกรีนก็จะเกิดแรงกดที่ดีกว่าการพิมพ์โดยใช้มุมเหลี่ยมของใบมีดชนิดนี้ บางทีก็จะเรียกว่า ใบมีดรูป “ตัวยู” นิยมใช้พิมพ์สีพลาสติซอลและสีซิลิโคนมากกว่า เพราะสีทั้งสองประเภทจะมีความหนืดของสีมากกว่า ใบมีดลักษณะจะเกิดแรงต้านความหนืดของสีได้ดีกว่า
2.รูปปลายแหลม (Beveled Blade) ใบมีดที่มีปลายแหลม มีอยู่สองลักษณะ คือ ปลายแหลมตัดทแยง และปลายแหลมรูปตัววี ใบมีดลักษณะนี้จะพิมพ์งานได้ง่ายที่สุด เพราะปลายแหลมของใบมีดสามารถเกลี่ยสีไปมาได้ตามที่ต้องการอย่างง่ายดายเหมือนปลายดินสอนั่นเอง ใบมีดลักษณะนี้จะพิมพ์สีได้ไม่บางและคมเหมือนยางปาดสีรูปตัวยู เพราะปลายแหลมบางของใบมีดจะไม่แข็งแรงเหมือนใบมีดรูปสี่เหลี่ยม การลากหรือช้อยสีกลับที่เดิมจึงทำได้ไม่มากเหมือนใบมีดรูปสี่เหลี่ยม ใบมีดลักษณะนี้จึงนิยมพิมพ์งานที่ไม่ต้องการความคมชัดหรือความบางเท่าไหร่นัก ใบมีดรูปปลายแหลมที่นิยมในงานพิมพ์ผ้า จะเป็นรูปตัววีเท่านั้น และนิยมที่จะใช้ใบมีดรูปตัววีในการพิมพ์งานประเภทสียางหรือสีพิมพ์ฐานน้ำเท่านั้น สำหรับรูปปลายทแยงจะใช้ในงานพิมพ์ ซีดี ไม่ใช้ในงานพิมพ์ผ้าเลย
3.แหลมรูปปลายมน (Round Blade) ใบมีดยางปาดสีมีรูปทรงกลมมน (Rounded หรือ Radial Blade) จะทำให้ใบมีดสัมผัสกับผ้าสกรีนได้ไม่แนบสนิทเหมือนกันยางปาดสีหน้าตัดและปลายแหลม อีกทั้งปลายใบมีดยังไม่สามารถลากหรือช้อนสีกลับที่เดิมได้ดีอีกด้วย ทำให้เนื้อสียังคงค้างอยู่ที่รูผ้าสกรีน ดังนั้นยางปาดสีที่มีใบมีดมน จึงเป็นใบมีดที่ทำให้สีที่พิมพ์ไหลผ่านสกรีนได้มากกว่าใบมีดชนิดอื่น ดังนั้น การพิมพ์สกรีนที่ต้องการให้มีเนื้อสีหนาๆ จึงนิยมใช้ใบมีดยางปาดสีชนิดนี้ ใบมีดลักษณะนี้นิยมพิมพ์กับสีพิมพ์ทุกประเภทที่ต้องการให้มีเนื้อสีหนา ไม่ว่าจะเป็นสียาง สีพลาสติซอลหรือสีซิลิโคน
ขนาดของยางปาดสี
การเลือกขนาดของยางปาดสีกับด้ามแปรงปาดสีที่จะใช้งาน สิ่งที่จะต้องมาดูอันดับแรก คือ ด้ามแปรงปาดสีที่ใช้ต้องการใช้ หากเป็นด้ามไม้สักจะต้องเลือกใช้ยางปาดสีที่มีความกว้างของหน้ายาง 5 ซม แต่ถ้าใช้กับด้ามอลูมิเนียมจะต้องใช้ยางปาดสีที่มีความกว้างของหน้ายาง 4 ซม. เพราะด้ามไม่สักจะต้องให้เนื้อยางจมลึกลงไป มากกว่าด้ามอลูมิเนียม เนื่องจากร่องของไม้สักไม่มีแรงหนีบยางเลย ส่วนด้ามอลูมิเนียมจะมีเกลียวและน๊อตสำหรับหนีบมากปาดสีให้แน่นได้ดีกว่า ซึ่งหลังจากใส่ยางปาดสีลงในด้ามแล้ว จะมีเนื้อยางโผล่ออกมา 3 ซม. เท่ากัน
สำหรับเรื่องความหนาของเนื้อยางที่ใช้ในงานพิมพ์ผ้า จะมีใช้อยู่ 2 ขนาด คือ 7มิล และ 9มิล หากเป็นสีพิมพ์ผ้าสูตรน้ำ จะใช้อยู่ที่ 7มิล และ 9มิล จะใช้กับสีพิมพ์ผ้าสูตรพลาสติซอลและซิลิโคน เหตุผลที่สีสูตรน้ำใช้ความหนาของเนื้อยางได้บางกว่า เพราะสีสูตรน้ำเป็นสีที่เนื้อนิ่ม ไม่ข้น ไม่มีความหนืดสูง เหมือนสีพลาสติซอลและสีซิลิโคน เนื้อยางที่มีความหนาน้อยกว่าก็จะนิ่มมากกว่าเนื้อยางที่มีความหนามากกว่า
การเลือกใช้ยางปาดสีให้เหมาะกับงานหรือไม่ จึงต้องพิจารณาจากปัจจัยในเรื่องต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อได้ยางปาดสีตามที่ต้องการ เพื่อนำมาทำเป็นแปรงปาดสีในการพิมพ์ผ้า ยังต้องคำนึงถึงเรื่องความยาวของแปรงปาดสีที่จะนำไปใช้งานด้วยว่า ควรใช้ความยาวของแปรงเท่าไรให้เหมาะสมกับงาน ขนาดของแปรงที่ใช้ควรใหญ่กว่าลายพิมพ์ด้านละ 1 ซม. เป็นอย่างต่ำ และต้องไม่ไปชิดกับกรอบในของบล็อกมากเกินไปด้วย
ที่มาของบทความนี้ เรียงความจากความรู้ความคิดและประสบการณ์การทำงานจริง โดยไม่ได้คัดลอกจากผู้ใดทั้งสิ้น ของ หจก. เอส.เค. สีและเคมี ตั้งแต่ปี 2535
เอกสารเผยแพร่ ของ เอส.เค. สกรีน เทรนนิ่ง เซนเตอร์ ศูนย์ฝึกอบรมการพิมพ์สกรีนสิ่งทอไทย ในเครือ หจก. เอส.เค. สีและเคมี โดย รุ่งทิพย์ อมรวชิรวงศ์ อาจารย์พิเศษและวิทยากร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งทอ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
*ข้อมูลทั้งหมดที่ระบุไว้ในบทความข้างต้นนี้ รวมทั้งคำแนะนำต่าง ๆ ล้วนแต่มีพื้นฐานมาจากความรู้และความเข้าใจในปัจจุบันของผู้เขียนทั้งสิ้น และถือได้ว่าความรู้ดังกล่าวมีความถูกต้องแม่นยำแล้ว แต่อย่างไรก็ตามผู้เขียนยังไม่สามารถให้การรับประกันความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลและคำแนะนำดังกล่าวได้ในทุก ๆ กรณี เนื่องจากผู้เขียนไม่อาจคาดคะเนได้ว่าผู้อ่านจะนำข้อมูลหรือคำแนะนำ ไปใช้เมื่อใด ทางด้านใดบ้าง และมีปัจจัยอะไรเป็นองค์ประกอบบ้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อาจเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาและผู้เขียนขอสงวนสิทธิ์ในการแก้ไขและเปลี่ยนแปลงข้อมูล และคำแนะนำข้างต้นตลอดเวลาด้วยโดยไม่มีการแจ้างให้ทราบล่วงหน้า*
|
|
แก้ไขล่าสุด ใน วันพุธที่ ๒๐ กรกฏาคม ๒๕๕๔ เวลา ๑๐:%M น. |